โครงการเยาวชนฯเข้าวัดวันอาทิตย์



โครงการเยาวชนน้ำขาว เข้าวัดวันอาทิตย์


วัดน้ำขาวนอก ร่วมกับ องค์กรในชุมชนตำบลน้ำขาว รณรงค์พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้นำเด็ก ๆ เยาวชน อายุ ๙- ๑๓ ปี เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วน สำหรับจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี...

โดยเริ่มกิจกรรมสำหรับวันอาทิตย์แรกเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนาย ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๐๐ -๑๗.๐๐ น. ระยะเริ่มแรกมีเยาวชน ลูกหลานเข้าร่วมโครงการ ๒๙ คน และมีผู้ปกครองแจ้งความจำนงเพิ่มขึ้นอีก ประมาณ ๔๐ คน ภายในวันอาทิตย์ถัดไป... คณะทำงานจึงรับเอาโครงการไปแปลงเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และ สัมผัสได้ สามารถประยุกต์กิจกรรมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ในทันที....

ได้ร่วมกันวางแนวกิจกรรมโดยศึกษาจากสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชุมชนน้ำขาวทั้งในแง่ของวิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ที่นับวันเสื่อมถอยลง เพราะถูกกลไกทางสังคมโลกาภิวัฒน์ซัดกระหน่ำซ้ำเติม โครงสร้างพื้นฐานของชุมชนน้ำขาวแบบดั้งเดิม คือชุมชนแห่งความเป็นเครือญาติ เป็นมิตร สามัคคี เอื้อเฟื้อเจือจุน ถูกทำลายและกำลังถูกลืมไปจากความทรงจำของคนน้ำขาวรุ่นใหม่....



ประกายความคิด แบบ “ลูกโป่ง ๓ ใบ” คือ แสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่พวกเราคนน้ำขาวพยายามจะพาลูกหลานก้าวข้ามไปให้ถึง.....กรอบความคิดแบบเด็กยืนถือลูกโป่ง ๓ใบตามงานวัดในอดีต คือความพยายามแปลงจินตนาการของพวกเราออกมาเป็นรูปธรรม เป็น “องค์ความรู้” ที่จะต้องตกผลึกอยู่กับจิตวิญญาณของบุตรหลานของคนน้ำขาว รุ่นใหม่...คือ

ภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา




ภูมิรู้...

การศึกษาปัจจุบัน มุ่งสร้างความรู้ ปลูกฝังสำนึก เพื่อความอยู่รอดของตนเองแบบมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ......ความรู้ที่ได้รับ จึงเป็นแค่ความรู้ที่ถูกกดเก็บอยู่กับ “จิตใต้สำนึก” ที่เรียกว่าสัญชาตญาณ ซึ่งถือเป็นความรู้ขั้นต่ำ... ไม่สามารถนำพาสังคมยุคใหม่ให้รอดพ้นวิกฤติได้........ภูมิรู้ที่แท้จริงต้องอยู่ ภายใต้ความกระตือรือร้น ตื่นรู้ ตื่นตัว รู้เหตุปัจจัย เห็นความเชื่อมโยง ของสรรพสิ่งและเป็นหนึ่งเดียวกัน....

ภูมิรู้ คือ ความสามารถในการ “หยั่งรู้” ของมนุษย์ ...


ภูมิธรรม...

เด็ก ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ มองข้ามมิติของคุณธรรมที่อยู่ในพิธีการ และหลักธรรมคำสอนของศาสนา ....คนในสังคมปัจจุบันไม่สามารถก้าวข้าม พิธีการ รูปแบบที่ฉาบฉวยของศาสนกิจ หรือกรอบกฎหมาย และกฎเกณฑ์ทางสังคม หรือจารีต ประเพณีไปได้ คนในสังคมปัจจุบันจึงอยู่กับความเอาตัวรอด ยึดติดวัตถุ ทรัพย์สิน และเงินทอง...

การซึมซับคุณธรรมอันละเอียดอ่อนลุ่มลึกของมนุษย์เพื่อปลูกฝัง ไว้ใน “จิตเหนือสำนึก” ต้องมาจากต้นแบบอันดีงาม สภาพแวดล้อมที่อบอุ่น มีกลิ่นอายแห่งความรัก ความเข้าอกเข้าใจ ...สิ่งเหล่านี้ต้องมาก่อน....

ภูมิปัญญา...

ชุมชน หรือสังคมหนึ่ง ๆ มีพัฒนาการ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้อันเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ทั้งด้านความเชื่อ และการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ปัจจัย ๔ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค...สภาพของชุมชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถูกวางกรอบไว้โดยระบบบริโภคนิยม การดำรงชีวิตของคนรุ่นใหม่ภายใต้ปัจจัย ๔ ถูกตีตราไว้กับตัวเงิน ... ความคิด จินตนาการถูกออกแบบให้เดินไปสู่สังคมแห่งการบริโภค อย่างไร้จุดหมายและขาดการเชื่อมต่อกับภูมิหลังของชุมชนของตนเอง....ภูมิปัญญาที่เป็นต้นแบบเดิม ๆ ของชุมชน สูญหาย พังทลาย ถูกมองว่าเก่า ล้าหลัง ด้อยพัฒนา....



จากหลักคิด เด็กน้ำขาวรุ่นใหม่ ต้องถือลูกโป่ง ๓ ใบ จึงถูกแปลงไปเป็น “การเรียนรู้จากกิจกรรม” ที่ทุกคน จะต้องลงมือปฏิบัติกันจริง ๆ ทั้งในรูปแบบของการจำลองสถานการณ์และชีวิตจริง โดยถือหลักว่า “ทั้งทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา พี่ และน้อง...ทุกคน คือ กัลยาณมิตรของกันและกัน ต้องมองข้ามเรื่องของการแข่งขัน เอาแพ้ เอาชนะ...หรือ เรื่องของ ลาภ เกียรติยศ หรือตำแหน่ง ... ทุกคนต้องช่วยกันประคับประคองพากันเดินให้ถึงเป้าหมายหรือหลักชัยเดียวกัน คือ

......เป็นเจ้าของลูกโป่ง ๓ ใบร่วมกัน....?



บันไดนำไปสู่เป้าหมาย อ่านต่อ...