หมอต่อกระดูก

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องตำรายาพื้นบ้าน

หมอต่อกระดูก

คำให้การเรื่องการต่อกระดูก

นายพัน รอดคง ปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๕๓) อายุ ๘๗ ปี ได้เริ่มสนใจการเป็นหมอต่อกระดูก เมื่ออายุ ๔๐ ปี หรือประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๖ เนื่องจากเห็นว่าการเป็นหมอต่อกระดูก เป็นเรื่องของการช่วยเหลือคนในชุมชนและที่สำคัญรู้ว่าตนเองมีของดีติดตัวสามารถเป็นเกราะป้องกันภัยให้กับตัวเองได้ เพราะคนที่จะมาเรียนเป็นหมอต่อกระดูกได้นั้น คุณสมบัติประการแรกที่ถูกกำหนดเอาไว้เป็นเบื้องต้น คือ ต้องเป็นคนที่เคยมีกระดูกส่วนใด ส่วนหนึ่งหัก แตกหรือร้าวมาก่อน มิเช่นนั้นจะมาเรียนเป็นหมอต่อกระดูกไม่ได้ ถ้าหากแข็งขืนจะมาเรียนอาจมีอันเป็นไป แค่นอนหลับ ศีรษะตกจากหมอน ก็อาจจะคอหักตายได้ ส่วนคุณสมบัติประการที่สอง คือ รู้ว่าตนเองเป็นคนพูดจริง ทำจริง ไม่ชอบพูดโกหก คนพูดโกหกจะมาเป็นหมอต่อกระดูกไม่ได้

ประวัติความเป็นมา

วิชาการต่อกระดูกเป็นวิชาที่มีมานานในตำบลน้ำขาว ย้อนหลังไปยุคสมัยท่านอาจารย์ทองแก้ว(พ่อท่านหัวพาน) อดีตเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวใน ซึ่งคนในชุมชนยุคนั้นนับถือเป็นเกจิอาจารย์ดัง ทั้งในความเคร่งครัดด้านพระพุทธศาสนา ในยุคสมัยของท่านได้มีการเปลี่ยนนิกายทางศาสนามาเป็นธรรมยุตินิกาย เป็นพระนักพัฒนาได้ร่วมมือกับเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวนอกระดมชาวบ้าน ร่วมกันสร้างเจดีย์ภูเขาธง เพื่อเป็นปูชนียสถาน เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนเรื่อยมา และที่สำคัญท่านอาจารย์ทองแก้ว ท่านมีวิชาคาถาเป็นหมอต่อกระดูกที่เป็นที่เชื่อถือและยอมรับกันว่าสำคัญยิ่งนัก มีเรื่องเล่าว่าในอดีตแม้สัตว์ที่เคยใช้งาน อย่างเช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เกิดล้มเจ็บ กระดูกแข้ง ขาหัก ก็ได้ใช้คาถาวิชาการต่อกระดูกจากท่านอาจารย์เข้ามาช่วยอยู่ด้วย หลังจากที่ท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว วิชาการหมอต่อกระดูกก็ได้รับการถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา ถึงหมอหนูแก้ว ศรีสุวรรณ แห่งบ้านคูตีน หมู่ที่ ๒ ต.น้ำขาว หมอลั่น ชายพรม แห่งบ้านน้ำขาวกลาง หมู่ที่ ๕ ต.น้ำขาว และปัจจุบันคือหมอพัน รอดคง แห่งบ้านน้ำขาวใน หมู่ที่ ๖ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา

ภูมิปัญญาและองค์ความเชื่อที่สำคัญ

๑. ในการขอเรียนวิชาของหมอต่อกระดูก ไม่มีตำราที่บันทึกเอาไว้ตายตัว ผู้เรียนต้องอาศัยทักษะ ประสบการณ์ชีวิต และความใส่ใจเฉพาะตัวสังเกต โดยครั้งแรกต้องมีขั้นตอน เพื่อเข้าไปขอวิชาจากครู ดังนี้ คือ จัดเตรียมผ้าขาว ๑ ผืน สาด หมอน สำหรับปูนั่ง หมาก พลู นำไปมอบ กราบครู ๓ ครั้ง เพื่อทำการขอวิชาคาถาหมอต่อกระดูกจากครู

๒. ผู้ที่อาสาจะมาเรียนวิชาหมอต่อกระดูก ต้องเป็นผู้ที่มีกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่ง แตก หัก ร้าว มาก่อน เพราะถ้าไม่มีคุณสมบัติที่ว่าอุบัติเหตุชนิดที่คาดไม่ถึงอาจจะเกิดขึ้นกับผู้นั้นได้ เช่น นอนคอพลัดตกจากหมอน คอหักตาย

๓. หลังจากที่ครูรับเป็นลูกศิษย์แล้ว ต้องเรียนวิชาจนจำ ผู้เป็นศิษย์ต้องติดตามครูไปเพื่อต่อกระดูกทุกครั้ง ศิษย์ต้องเตรียมเหลา และสานเผือกไม้ไผ่ทีละซี่ จะเป็นไม้ไผ่อะไรก็ได้

๔. ในการไปหาหมอ เวลาที่มีผู้บาดเจ็บ ญาติคนเจ็บต้องเตรียม หมาก พลู ธูป เทียน น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวใหม่(ห้ามปน) หัวไพร พร้อมด้วยเงินค่าคราด จำนวน ๑๒ บาท ไว้ให้พร้อม

๕. ครูจะให้ลูกศิษย์เป็นผู้คลำดูอาการของคนเจ็บก่อน เพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน และหมอจะต้องกำชับให้ดูที่อาการของคนเจ็บว่ามีอาการเกี่ยวกับกระดูก เส้นเอ็น หรือเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เพื่อจะได้ใช้คาถาระบุอาการของคนเจ็บให้ชัดเจน

๖. หลังจากที่ได้ทำการรักษาจนครบ ๗ วัน หมอต้องแก้เผือกเพื่อดูอาการที่บาดเจ็บ และได้รู้ว่า กระดูกติด หรือไม่ติด หากมีอาการที่คด งอ หมอจะใช้วิธีรักษา ตีด้วยด้ายริ้วพร้อมว่าคาถา ประกบไปด้วย

๗. คุณสมบัติของหัวไพร แก้รักษาอาการช้ำใน โดยนำไปผูกที่ข้อมือของผู้ป่วย รักษาและป้องกัน ชิน

๘. หลังจากที่รักษาผู้ป่วยจนหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยต้องทำการเด็ดพิษ บางคนอาจมอบผ้าพลัดให้แก่หมอ

๙. การดำรงชีวิตประจำวันของหมอต่อกระดูกจะต้องเคร่งครัด ที่การไม่พูดโกหก การกระทำทุกอย่างต้องดำรงตนอยู่กับความจริง เพราะถ้าหากเป็นคนพูดโกหกเป็นประจำ ไม่อยู่กับความจริง จะทำให้วิชาคาถาที่ร่ำเรียนมาเสื่อม ของที่ใช้สำหรับป้องกันตัวก็พลอยเสื่อม ในที่สุดของที่ไม่ดีเหล่านั้นก็จะย้อนกลับเข้าไปกินร่างหมอในทันที.

นิยามศัพท์เฉพาะ

ชิน: หมายถึง สิ่งชั่วร้ายที่มองไม่เห็นตัวตน มีทั้งชินดิน ชินน้ำ ชินลม ชินไฟ

ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นายพัน รอดคง
ที่อยู่: บ้านน้ำขาวใน หมู่ที่ ๖ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: -
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: -
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๒๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๓