หมอตำแย

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องตำรายาพื้นบ้าน

หมอตำแย

คำให้การเรื่องหมอตำแย

นางคล้อย สีนวล ปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๕๓) อายุ ๘๗ ปี ได้เริ่มสนใจการเป็นหมอตำแย เมื่ออายุ ๓๕ ปี หรือประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๑ เนื่องจากสาเหตุ ในยุคสมัยนั้นความเจริญทางด้านการแพทย์ของตำบลน้ำขาวยังขาดการพัฒนา การคลอดลูกของผู้หญิงจึงเสี่ยงจนถึงเป็นอันตรายแก่ชีวิต คนน้ำขาวบางคนที่มีฐานะทางครอบครัวดีจึงต้องเดินทางไปคลอดลูกที่ ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งต้องเดินทางโดยรถไฟ จากสถานี อ.จะนะ ไปลงที่หาดใหญ่ แล้วต้องต่อรถไป ที่สงขลาอีกทอดหนึ่ง ด้วยความสงสารและใจรักจึงอาสาเป็นผู้ช่วยเหลือในการทำคลอดให้กับผู้หญิงทุกคน ต่อมาได้ไปฝึกอบรมวิธีการทำคลอดตามหลักการสาธารณสุขทางการแพทย์สมัยใหม่ จากสาธารณสุขจังหวัด เท่าที่จำได้ในสมัยนั้น คือหมอชุบ ที่ อ.เมือง สงขลา แต่ก็ไม่ทิ้งภูมิปัญญาและกรรมวิธีที่ได้รับการถ่ายทอด ทั้งความเชื่อ วิธีการขั้นตอน และตำรายา ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ภูมิปัญญาและความเชื่อของหมอตำแย

ก่อนไปทำคลอดทุกครั้งจะต้องกาศครูหมอตายาย เพื่อให้ช่วยปกปักรักษา ให้ผู้ป่วยคลอดได้ง่าย ๆ หมอตำแยจะต้องเป็นคนใจเย็น จิตใจเข้มแข็ง เพราะต้องทำหน้าที่คอยปลอบใจผู้ป่วยด้วย จะไม่รับประทานลูกมะละกอ ก่อนหน้าจะทำคลอด ญาติผู้ป่วยจะต้องเตรียมเงิน ๑๒ บาท หลังจากคลอดแล้วจะมอบหมายให้ใครก็ได้ไปฝังรก ขณะพารกไปฝังห้ามพูด ห้ามมองซ้าย – ขวา (เชื่อว่า จะทำให้ตาของเด็กเขหรือตาเหล่) และในวันผลักก้อนเส้าต้องเตรียมด้าย หมากพลู ๑ คำไว้ด้วย ในกรณีผู้ป่วยฝากท้องล่วงหน้า ให้เตรียม ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า มะพร้าว ๑ ลูก (ไว้เคี่ยวน้ำมันสำหรับนวดพุงผู้ป่วย)

ขั้นตอนที่สำคัญในการทำคลอด

แบ่งออกเป็น ๔ ระยะ คือ

ขั้นตอนที่ ๑ ระยะก่อนคลอด
- สังเกตดูอาการผู้ป่วยว่าเจ็บมากน้อยแค่ไหน?
- ใช้มือคลำดูตัวเด็กว่าหันหัวลงแล้วหรือยัง?
- สังเกตดูระยะเวลาที่เจ็บ/ปากมดลูกเปิดหรือยัง?
- สังเกตระยะห่างของหัวเด็กกับปากช่องคลอด
- การปลอบฝันและให้กำลังใจ

ขั้นตอนที่ ๒ ระยะกำลังคลอดและแรกคลอด
- ขณะที่กำลังคลอด ต้องระมัดระวังที่คางของเด็ก ซึ่งมักจะติดทำให้แม่เบ่งไม่ออก
- ต้องใช้มือถือคางเด็กไว้ในขณะกำลังคลอดเพื่อไม่ให้เด็กร้อง (ถ้าปล่อยให้เด็กร้องขณะที่กำลังคลอด ตัวของเด็กจะใหญ่ขึ้น เป็นอันตรายกับแม่)
-หลังจากเด็กออกมาแล้ว กรณีที่รกติดต้องใช้มือข้างหนึ่งถือสายสะดือเด็กไว้เพื่อดึงรกออก มืออีกข้างหนึ่งให้กดและคลึงที่หน้าท้องของแม่
-หมอตำแยต้องคอยดูแลผู้ป่วยเรื่องอาหารและยาอย่างใกล้ชิด เช้า- ค่ำ ตลอดช่วงระยะอยู่ไฟ ครบ ๗ วัน อาหาร พริกไทยบด กับ ปลาละมา ปลาช่อนแห้ง
-การก่อไฟต้มน้ำ ต้มยาให้ใช้ไม้พลา ไม้นอล ลอกเปลือกออก และให้นำใบน้ำข้าว ใบกล้วยน้ำ ใบขมิ้น มาใส่หม้อต้มน้ำสำหรับอาบในช่วงระยะการอยู่ไฟ

ขั้นตอนที่ ๓ ระยะครบ ๗ วัน พ้นขีดอันตราย (วันฝังกุล หรือ วันผลักก้อนเส้า)
-วันฝังกุล หรือวันผลักก้อนเส้าญาติจะต้องเตรียมด้ายและหมากพลู ๑ คำ สำหรับหมอไว้ด้วย
-การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ยังเหมือนกับในระยะที่ ๒

ขั้นตอนที่ ๔ ระยะครบ ๔๐ วัน
- แม่เริ่มหัดนวดข้าว เพื่อฝึกขมิบช่องคลอดและจัดระเบียบมดลูกให้เข้าอู่
-ของต้องห้ามเริ่มกินได้ นอนกับสามีได้

ส่วนประกอบของตัวยาที่สำคัญ

ภายหลังการคลอดลูกแล้ว เพื่อให้มดลูกหดตัว (เข้าอู่) เร็ว ในช่วงการอยู่ไฟ ๔๐ วัน จะต้องกินยา ซึ่งมีส่วนผสมในอัตราส่วน ๑ : ๑ ดังนี้
๑.เปลือกพิกุล
๒.พังกราบ
๓.รากมะเขือ (หึน)
๔.จันทร์หอมทั้งต้น
๕.เปลือกไม้นอล

ส่วนผสม

ใช้ตัวยาที่มีสัดส่วนเท่า ๆ กัน ผสมให้ได้ประมาณ ๑ หม้อ ใส่น้ำจนเต็ม

วิธีปรุง

นำตัวยาที่ผสมกันได้สัดส่วนแล้วไปต้มไฟจนเดือด

วิธีรับประทาน

รับประทานได้ตลอดเวลา เช้า เที่ยง เย็น ก่อนนอน

สรรพคุณ

ต้มกินเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

อาหารแสลง/ต้องห้าม

ปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาดุก แกงหอย (ทำให้คางแข็ง) ปลาโสด
อาหารที่ให้รับประทานได้ในช่วงอยู่ไฟ
ปลาละมา (ปลาเค็มแห้ง) ปลาช่อนแห้ง เนื้อหมู ไก่
โรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดกับผู้ป่วยหลังคลอด
ผู้ป่วยหลังคลอดเป็น “เรียน” ลักษณะอาการเป็นบ้า ไข้ขึ้นสูง เพ้อ คลั่ง สาเหตุเพราะเลือดไหลเวียนขึ้นศีรษะ วิธีรักษา ต้องบีบ นวด คบก้อนเส้า และต้องนำอาหารแสลงที่ผู้ป่วยกินเข้าไปมาแก้

นิยามศัพท์เฉพาะ

ผลักก้อนเส้า: หมายถึง ระยะอยู่ไฟครบ ๗ วัน หลังคลอด
ฝังกุล: ระยะอยู่ไฟครบ ๗ วัน หลังคลอด, ระยะพ้นขีดอันตราย มดลูกเริ่มแห้ง, ระยะลดความเข้มงวดทั้งด้านอาหารและการดูแลรักษาโดยทั่วไป
อยู่ไฟ: ะยะแรกคลอดจนครบ ๗ วัน แม่ต้องนอนยกเข่าขึ้น เพื่อให้ช่องคลอด มดลูก อังไฟบนเตาถ่านที่ก่อด้วยไม้พลา หรือไม้นอลลอกเปลือกออกอย่างดี เพื่อให้มดลูกแห้งเร็ว

ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นางคล้อย สีนวล
ที่อยู่: บ้านต้นเหรียง บ้านเลขที่ .... หมู่ที่ ๙ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: ป.๔
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: -
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๑๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๓