หมอต่อกระดูก

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องตำรายาพื้นบ้าน

หมอต่อกระดูก

คำให้การเรื่องการต่อกระดูก

นายพัน รอดคง ปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๕๓) อายุ ๘๗ ปี ได้เริ่มสนใจการเป็นหมอต่อกระดูก เมื่ออายุ ๔๐ ปี หรือประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๖ เนื่องจากเห็นว่าการเป็นหมอต่อกระดูก เป็นเรื่องของการช่วยเหลือคนในชุมชนและที่สำคัญรู้ว่าตนเองมีของดีติดตัวสามารถเป็นเกราะป้องกันภัยให้กับตัวเองได้ เพราะคนที่จะมาเรียนเป็นหมอต่อกระดูกได้นั้น คุณสมบัติประการแรกที่ถูกกำหนดเอาไว้เป็นเบื้องต้น คือ ต้องเป็นคนที่เคยมีกระดูกส่วนใด ส่วนหนึ่งหัก แตกหรือร้าวมาก่อน มิเช่นนั้นจะมาเรียนเป็นหมอต่อกระดูกไม่ได้ ถ้าหากแข็งขืนจะมาเรียนอาจมีอันเป็นไป แค่นอนหลับ ศีรษะตกจากหมอน ก็อาจจะคอหักตายได้ ส่วนคุณสมบัติประการที่สอง คือ รู้ว่าตนเองเป็นคนพูดจริง ทำจริง ไม่ชอบพูดโกหก คนพูดโกหกจะมาเป็นหมอต่อกระดูกไม่ได้

ประวัติความเป็นมา

วิชาการต่อกระดูกเป็นวิชาที่มีมานานในตำบลน้ำขาว ย้อนหลังไปยุคสมัยท่านอาจารย์ทองแก้ว(พ่อท่านหัวพาน) อดีตเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวใน ซึ่งคนในชุมชนยุคนั้นนับถือเป็นเกจิอาจารย์ดัง ทั้งในความเคร่งครัดด้านพระพุทธศาสนา ในยุคสมัยของท่านได้มีการเปลี่ยนนิกายทางศาสนามาเป็นธรรมยุตินิกาย เป็นพระนักพัฒนาได้ร่วมมือกับเจ้าอาวาสวัดน้ำขาวนอกระดมชาวบ้าน ร่วมกันสร้างเจดีย์ภูเขาธง เพื่อเป็นปูชนียสถาน เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนเรื่อยมา และที่สำคัญท่านอาจารย์ทองแก้ว ท่านมีวิชาคาถาเป็นหมอต่อกระดูกที่เป็นที่เชื่อถือและยอมรับกันว่าสำคัญยิ่งนัก มีเรื่องเล่าว่าในอดีตแม้สัตว์ที่เคยใช้งาน อย่างเช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เกิดล้มเจ็บ กระดูกแข้ง ขาหัก ก็ได้ใช้คาถาวิชาการต่อกระดูกจากท่านอาจารย์เข้ามาช่วยอยู่ด้วย หลังจากที่ท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว วิชาการหมอต่อกระดูกก็ได้รับการถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา ถึงหมอหนูแก้ว ศรีสุวรรณ แห่งบ้านคูตีน หมู่ที่ ๒ ต.น้ำขาว หมอลั่น ชายพรม แห่งบ้านน้ำขาวกลาง หมู่ที่ ๕ ต.น้ำขาว และปัจจุบันคือหมอพัน รอดคง แห่งบ้านน้ำขาวใน หมู่ที่ ๖ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา

ภูมิปัญญาและองค์ความเชื่อที่สำคัญ

๑. ในการขอเรียนวิชาของหมอต่อกระดูก ไม่มีตำราที่บันทึกเอาไว้ตายตัว ผู้เรียนต้องอาศัยทักษะ ประสบการณ์ชีวิต และความใส่ใจเฉพาะตัวสังเกต โดยครั้งแรกต้องมีขั้นตอน เพื่อเข้าไปขอวิชาจากครู ดังนี้ คือ จัดเตรียมผ้าขาว ๑ ผืน สาด หมอน สำหรับปูนั่ง หมาก พลู นำไปมอบ กราบครู ๓ ครั้ง เพื่อทำการขอวิชาคาถาหมอต่อกระดูกจากครู

๒. ผู้ที่อาสาจะมาเรียนวิชาหมอต่อกระดูก ต้องเป็นผู้ที่มีกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่ง แตก หัก ร้าว มาก่อน เพราะถ้าไม่มีคุณสมบัติที่ว่าอุบัติเหตุชนิดที่คาดไม่ถึงอาจจะเกิดขึ้นกับผู้นั้นได้ เช่น นอนคอพลัดตกจากหมอน คอหักตาย

๓. หลังจากที่ครูรับเป็นลูกศิษย์แล้ว ต้องเรียนวิชาจนจำ ผู้เป็นศิษย์ต้องติดตามครูไปเพื่อต่อกระดูกทุกครั้ง ศิษย์ต้องเตรียมเหลา และสานเผือกไม้ไผ่ทีละซี่ จะเป็นไม้ไผ่อะไรก็ได้

๔. ในการไปหาหมอ เวลาที่มีผู้บาดเจ็บ ญาติคนเจ็บต้องเตรียม หมาก พลู ธูป เทียน น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวใหม่(ห้ามปน) หัวไพร พร้อมด้วยเงินค่าคราด จำนวน ๑๒ บาท ไว้ให้พร้อม

๕. ครูจะให้ลูกศิษย์เป็นผู้คลำดูอาการของคนเจ็บก่อน เพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้ร่วมกัน และหมอจะต้องกำชับให้ดูที่อาการของคนเจ็บว่ามีอาการเกี่ยวกับกระดูก เส้นเอ็น หรือเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เพื่อจะได้ใช้คาถาระบุอาการของคนเจ็บให้ชัดเจน

๖. หลังจากที่ได้ทำการรักษาจนครบ ๗ วัน หมอต้องแก้เผือกเพื่อดูอาการที่บาดเจ็บ และได้รู้ว่า กระดูกติด หรือไม่ติด หากมีอาการที่คด งอ หมอจะใช้วิธีรักษา ตีด้วยด้ายริ้วพร้อมว่าคาถา ประกบไปด้วย

๗. คุณสมบัติของหัวไพร แก้รักษาอาการช้ำใน โดยนำไปผูกที่ข้อมือของผู้ป่วย รักษาและป้องกัน ชิน

๘. หลังจากที่รักษาผู้ป่วยจนหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยต้องทำการเด็ดพิษ บางคนอาจมอบผ้าพลัดให้แก่หมอ

๙. การดำรงชีวิตประจำวันของหมอต่อกระดูกจะต้องเคร่งครัด ที่การไม่พูดโกหก การกระทำทุกอย่างต้องดำรงตนอยู่กับความจริง เพราะถ้าหากเป็นคนพูดโกหกเป็นประจำ ไม่อยู่กับความจริง จะทำให้วิชาคาถาที่ร่ำเรียนมาเสื่อม ของที่ใช้สำหรับป้องกันตัวก็พลอยเสื่อม ในที่สุดของที่ไม่ดีเหล่านั้นก็จะย้อนกลับเข้าไปกินร่างหมอในทันที.

นิยามศัพท์เฉพาะ

ชิน: หมายถึง สิ่งชั่วร้ายที่มองไม่เห็นตัวตน มีทั้งชินดิน ชินน้ำ ชินลม ชินไฟ

ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นายพัน รอดคง
ที่อยู่: บ้านน้ำขาวใน หมู่ที่ ๖ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: -
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: -
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๒๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๓

เสือรอยเบี้ยว

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องราวตำนานเสือรอยเบี้ยว

เสือรอยเบี้ยว

คำให้การของผู้เชี่ยวชาญคนที่ ๓



เสือรอยเบี้ยวกัดนางหนูเอียด ตรงกับ เดือน ๑๑ ที่บริเวณทุ่งไก่ปิ้ง ผู้ให้ปากคำยังไปดูศพด้วย ลักษณะการเดินของเสือรอยเบี้ยวจะมีเสียงดังและมีรอยเป็นแอ่งใหญ่ มักจะทำร้ายคนและสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะวัว ควายของชาวบ้านไปกินเป็นประจำ ในที่สุดเสือรอยเบี้ยวก็ถูกยิงตาย แถว ๆ บ้านประจ่า

ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นางคล้อย สีนวล
ที่อยู่: บ้านต้นเหรียง บ้านเลขที่ .... หมู่ที่ ๙ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: ป. ๔
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: -
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๑๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๓

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องราวตำนานเสือรอยเบี้ยว

เสือรอยเบี้ยว

คำให้การของผู้เชี่ยวชาญคนที่ ๒


เสือรอยเบี้ยว เป็นเสือลำบากที่เขาลือกันว่าหลุดออกมาจากกรงของนักเล่นละครสัตว์ เท้าข้างหนึ่งพิการมีรอยเบี้ยว สันนิษฐานว่าโดนบ่วงหรือเคยถูกทำร้ายจากน้ำมือของมนุษย์ จนในที่สุดกลายเป็นเสือดุร้าย ผู้เชี่ยวชาญคนที่ ๒ ได้ให้การเพิ่มเติมว่า เสือรอยเบี้ยวเวลามันจ้องจะทำร้ายคน มักจ้องกัดเอาข้างหลังตอนที่เหยื่อเผลอเท่านั้น มีเรื่องเล่าว่า ป้าของนางคล้อย ปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๕๓) อายุ ๗๗ ปี บ้านคูตีน หมู่ที่ ๒ ต.น้ำขาว เข้าไปทำไร่แถว ๆ ควนสาว ควนกรอง ใกล้กับควนธง ในขณะที่ป้าของนางคล้อย กำลังนั่งดายหญ้าอยู่เพลิน เพื่อปรับให้พื้นที่ราบเรียบ นางจึงหยิบ ฉวยเอาเศษดิน เศษหญ้าที่วางอยู่ใกล้ ๆ เพื่อโยนเข้าไปตามแนวป่ารกตรงรอยต่อที่ยังไม่ได้ทำการบุกเบิก...ทันใดนั้น เสือรอยเบี้ยวที่แอบอยู่ตรงราวป่า ตรงที่ก้อนดิน เศษหญ้าถูกเหวี่ยงไปตกพอดี ด้วยความตกใจ...มันก็กระโจนออกมาเพราะคิดว่าเหยื่อคือป้าของนางคล้อยรู้ตัวทัน...มันกระโจนหนีออกไปทางบ้านหัวควน สามีของนางได้ช่วยกันทะวาย จนหนีไปไม่กลับมาอีกเลย ยุคสมัยนั้น เวลาใครจำต้องออกจากบ้าน ต้องเดินทางเข้าป่าหรือติดต่อมีธุระอันใดจึงมักมีคาถาท่องจำเพื่อปลุกฝัน กำลังใจในการเดินทาง สำหรับคาถาหักไม้ (หักเลข) ของผู้เชี่ยวชาญคนที่ ๒ ที่ใช้ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน คือ “อิติอะกาลิ อิติภะคะวา โนสะวะหา สีสะมุลิ มุลิสีสะ” แล้วก็หักไม้วางไว้บนทางเดิน แต่ห้ามเดินข้าม

ขณะที่เสือรอยเบี้ยวกัดนายเคี่ยม แล้วนำศพมาไว้ที่ศาลาหมู่ที่ ๒ นั้น ผู้เชี่ยวชาญคนที่ ๒ อายุ ๑๘ ปี กำลังเข้าไปเป็นศิษย์ที่วัดน้ำขาวใน(วัดตก) เพื่อเตรียมที่จะบวชเรียน ท่านพระครูพรหมวุฒาจารย์เจ้าอาวาสในสมัยนั้น คือผู้มีส่วนสำคัญในการออกติดตาม ระดมชาวบ้านออกค้นหาจนพบศพของนายเคี่ยมในที่สุด.

นิยามศัพท์เฉพาะ

ทะวาย: กะโกนทำเสียงดัง ,โห่ขึ้นพร้อม ๆ กัน



ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นายจัด พรหมมณี
ที่อยู่: บ้านคูตีน หมู่ที่ ๒ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: -
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: เป็นหม้าย
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๓

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องราวตำนานเสือรอยเบี้ยว

เสือรอยเบี้ยว

คำให้การของผู้เชี่ยวชาญคนที่ ๑


ตำบลน้ำขาวก่อนยุคสมัยปี พ.ศ.๒๕๐๐ มีสภาพพื้นที่ทางด้านกายภาพเป็นป่าเขา หนาทึบ พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของชุมชนอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่ม และอยู่รวมกันเป็นกระจุกตามลักษณะความสัมพันธ์ทางเครือญาติ บริเวณที่เป็นที่ตั้งบ้านเรือนเก่าแก่มานับตั้งแต่สมัย โบราณ คือ บ้านออกวัด บ้านเกาะแค บ้านต้นเหรียง บ้านคูหัวนอน บ้านน้ำขาว บ้านคูตีน เป็นต้น วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนน้ำขาว คือ ทำนา ซึ่งทำกันอยู่ใกล้ ๆ กับชุมชนที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นที่ลุ่ม กับทำสวนยางซึ่งต้องเดินทางเข้าไปบุกเบิกหักร้างพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่ราบสูงแถวผืนป่า ควนธง ควนกรอง บ้านหัวควน แรก ๆ เข้าไปหักร้างทำไร่ ปลูกข้าว ข้าวโพด ผัก มัน และปลูกยางพารา ในการเดินทางเข้าไปทำสวน ทำไร่

มีเรื่องเล่าลือที่เป็นที่โจษขานกันมาปากต่อปากแต่ไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ คือเรื่องของ “เสือรอยเบี้ยว” เรื่องราวเกี่ยวกับเสือรอยเบี้ยวที่เป็นที่น่าสะพรึงกลัวและถูกเล่าขานกันมาเรื่อยๆ จนเด็ก ๆ ใน ต.น้ำขาวรุ่นหลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้นำมาประยุกต์เป็นการละเล่นพื้นบ้านเกี่ยวกับ เรื่องการเข้าป่าแล้วไปเจอเสือ ใครไม่ระมัดระวังก็จะโดนเสือกัดกิน ในขณะที่เข้าป่าก็จะท่องคำคล้องจองไปด้วยอย่างสนุกสนาน “ขุด ขุดหัวมัน เสือยิกทัน หัวมันขาดท่อน” ซ้ำ ๆ กันจนวิ่งหนีกลับข้าไปสู่แดนที่ปลอดภัยได้สำเร็จ ใครวิ่งหนีไม่ทัน โดนเสือจับได้จะกลายเป็นผู้แพ้ ต้องจัดให้เป็นฝ่ายเสือในเกมถัดไป...

ตามคำบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องเสือรอยเบี้ยว มีผู้ให้ปากคำตรงกันเกี่ยวกับชื่อของบุคคลที่เคยโดนเสือรอยเบี้ยวกัดกินเป็นอาหารในขณะที่ไปบุกเบิกทำสวนยาง ทำไร่ ในละแวกนั้น ดังนี้

๑.ตรงบริเวณพื้นที่ควนกรอง ควนธงในปัจจุบัน นางเอียด ทองเพชรจันทร์ กับสามีไปบุกเบิกทำไร่ ช่วงพักเที่ยงสามีเกิดอยากกินแกงเลียง จึงอาสาไปหาผักโดนเสือรอยเบี้ยวคาบพาไปกินตรงบริเวณต้นไก่เขียวปัจจุบัน สามีตามไปพบอวัยวะทีละชิ้น ๆ

๒.นายเคี่ยม ไม่ทราบนามสกุล ออกไปถางป่าทำไร่เช่นเดียวกันที่บริเวณแถว ๆ บ้านทุ่งไก่ปิ้ง บ้านคลองหาร เสือรอยเบี้ยวคาบพาไปกิน ถูกแยกชิ้นส่วนของร่างกายออกเป็นชิ้น ๆ ญาติต้องนำศพใส่กระสอบพากลับมาวางไว้ที่ศาลาบ้านคูตีน หมู่ที่ ๒ ต.น้ำขาว เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่าศพที่โดนเสือกัดกินห้ามนำกลับบ้าน

๓.นางลาบ แห่งบ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ ต.น้ำขาว ถูกเสือรอยเบี้ยวขโมยวัว แล้วลากพาไปกินที่บ้านทุ่งนาเคียน ต.ขุนตัดหวาย บางครั้งพื้นที่หากินของเสือรอยเบี้ยวขยายพื้นที่หากินไปไกลถึง บ้านปลักชะเมา อ.นาทวี

๔.น้องของครูเนี่ยม บ้านช้างคลอด ต.ท่าหมอไทร ถูกเสือรอยเบี้ยวกัดกินเป็นอาหารอีกคนหนึ่งด้วย

๕.เสือรอยเบี้ยวเวลากัดกินคน หรือสัตว์ มันชอบกัดกินที่ท้อง อวัยวะส่วนอื่นมักจะทิ้งเอาไว้ให้ญาติหรือเจ้าของ นำกลับเอาไปเป็นหลักฐานเสมอ

๖.จุดจบของเสือรอยเบี้ยวถูกหมอเนียม(พ่อเฒ่าของอาจารย์ถาวร เกื้อนุ้ย) ยิงตายในขณะที่กำลังเข้าไปขโมยวัวชาวบ้านกิน ที่บ้านนาปรือ ต.คู จากคำบอกเล่าขณะที่มันถูกยิงตาย ด้วยความเป็นเสือไม่ทิ้งลาย มันยังยืนตาย จนคนยิงต้องใช้ไม้แทงให้ล้มถึงได้รู้ว่ามันตายสนิทแล้ว ทางราชการให้รางวัลแก่หมอเนียมเป็น ปืนลูกซองแฝดยาว ๑ กระบอก

๗.ผู้สัมภาษณ์ได้ติดต่อสอบถามเกี่ยวกับประวัติหมอเนียมและประวัติของปืนลูกซองดังกล่าว จากอาจารย์วินิจ ขวัญทองชุม บ้านนาปรือ ต.คู อ.จะนะ ปรากฏว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีการเล่าสืบทอดกันมาตรงกัน อาจารย์วินิจ ขวัญทองชุม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากหมอเนียมได้รับปืนลูกซองจากทางราชการมาแล้ว ถูกโจรปล้นและถูกยิงตาย ปืนดังกล่าวก็ถูกกโจรเอาไปด้วย เหลือแต่หลักฐานที่เป็นเอกสารเกี่ยวกับอาวุธปืนที่ผู้เล่าเองก็เคยเห็น.



ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นายเพิ่ม ศรีมณี
ที่อยู่: บ้านออกวัด หมู่ที่ ๓ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: -
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: เสียชีวิต
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๑๓ เดือนมีนาคม ๒๕๕๑

หมอตำแย

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องตำรายาพื้นบ้าน

หมอตำแย

คำให้การเรื่องหมอตำแย

นางคล้อย สีนวล ปัจจุบัน(พ.ศ.๒๕๕๓) อายุ ๘๗ ปี ได้เริ่มสนใจการเป็นหมอตำแย เมื่ออายุ ๓๕ ปี หรือประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๑ เนื่องจากสาเหตุ ในยุคสมัยนั้นความเจริญทางด้านการแพทย์ของตำบลน้ำขาวยังขาดการพัฒนา การคลอดลูกของผู้หญิงจึงเสี่ยงจนถึงเป็นอันตรายแก่ชีวิต คนน้ำขาวบางคนที่มีฐานะทางครอบครัวดีจึงต้องเดินทางไปคลอดลูกที่ ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งต้องเดินทางโดยรถไฟ จากสถานี อ.จะนะ ไปลงที่หาดใหญ่ แล้วต้องต่อรถไป ที่สงขลาอีกทอดหนึ่ง ด้วยความสงสารและใจรักจึงอาสาเป็นผู้ช่วยเหลือในการทำคลอดให้กับผู้หญิงทุกคน ต่อมาได้ไปฝึกอบรมวิธีการทำคลอดตามหลักการสาธารณสุขทางการแพทย์สมัยใหม่ จากสาธารณสุขจังหวัด เท่าที่จำได้ในสมัยนั้น คือหมอชุบ ที่ อ.เมือง สงขลา แต่ก็ไม่ทิ้งภูมิปัญญาและกรรมวิธีที่ได้รับการถ่ายทอด ทั้งความเชื่อ วิธีการขั้นตอน และตำรายา ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ภูมิปัญญาและความเชื่อของหมอตำแย

ก่อนไปทำคลอดทุกครั้งจะต้องกาศครูหมอตายาย เพื่อให้ช่วยปกปักรักษา ให้ผู้ป่วยคลอดได้ง่าย ๆ หมอตำแยจะต้องเป็นคนใจเย็น จิตใจเข้มแข็ง เพราะต้องทำหน้าที่คอยปลอบใจผู้ป่วยด้วย จะไม่รับประทานลูกมะละกอ ก่อนหน้าจะทำคลอด ญาติผู้ป่วยจะต้องเตรียมเงิน ๑๒ บาท หลังจากคลอดแล้วจะมอบหมายให้ใครก็ได้ไปฝังรก ขณะพารกไปฝังห้ามพูด ห้ามมองซ้าย – ขวา (เชื่อว่า จะทำให้ตาของเด็กเขหรือตาเหล่) และในวันผลักก้อนเส้าต้องเตรียมด้าย หมากพลู ๑ คำไว้ด้วย ในกรณีผู้ป่วยฝากท้องล่วงหน้า ให้เตรียม ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า มะพร้าว ๑ ลูก (ไว้เคี่ยวน้ำมันสำหรับนวดพุงผู้ป่วย)

ขั้นตอนที่สำคัญในการทำคลอด

แบ่งออกเป็น ๔ ระยะ คือ

ขั้นตอนที่ ๑ ระยะก่อนคลอด
- สังเกตดูอาการผู้ป่วยว่าเจ็บมากน้อยแค่ไหน?
- ใช้มือคลำดูตัวเด็กว่าหันหัวลงแล้วหรือยัง?
- สังเกตดูระยะเวลาที่เจ็บ/ปากมดลูกเปิดหรือยัง?
- สังเกตระยะห่างของหัวเด็กกับปากช่องคลอด
- การปลอบฝันและให้กำลังใจ

ขั้นตอนที่ ๒ ระยะกำลังคลอดและแรกคลอด
- ขณะที่กำลังคลอด ต้องระมัดระวังที่คางของเด็ก ซึ่งมักจะติดทำให้แม่เบ่งไม่ออก
- ต้องใช้มือถือคางเด็กไว้ในขณะกำลังคลอดเพื่อไม่ให้เด็กร้อง (ถ้าปล่อยให้เด็กร้องขณะที่กำลังคลอด ตัวของเด็กจะใหญ่ขึ้น เป็นอันตรายกับแม่)
-หลังจากเด็กออกมาแล้ว กรณีที่รกติดต้องใช้มือข้างหนึ่งถือสายสะดือเด็กไว้เพื่อดึงรกออก มืออีกข้างหนึ่งให้กดและคลึงที่หน้าท้องของแม่
-หมอตำแยต้องคอยดูแลผู้ป่วยเรื่องอาหารและยาอย่างใกล้ชิด เช้า- ค่ำ ตลอดช่วงระยะอยู่ไฟ ครบ ๗ วัน อาหาร พริกไทยบด กับ ปลาละมา ปลาช่อนแห้ง
-การก่อไฟต้มน้ำ ต้มยาให้ใช้ไม้พลา ไม้นอล ลอกเปลือกออก และให้นำใบน้ำข้าว ใบกล้วยน้ำ ใบขมิ้น มาใส่หม้อต้มน้ำสำหรับอาบในช่วงระยะการอยู่ไฟ

ขั้นตอนที่ ๓ ระยะครบ ๗ วัน พ้นขีดอันตราย (วันฝังกุล หรือ วันผลักก้อนเส้า)
-วันฝังกุล หรือวันผลักก้อนเส้าญาติจะต้องเตรียมด้ายและหมากพลู ๑ คำ สำหรับหมอไว้ด้วย
-การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ยังเหมือนกับในระยะที่ ๒

ขั้นตอนที่ ๔ ระยะครบ ๔๐ วัน
- แม่เริ่มหัดนวดข้าว เพื่อฝึกขมิบช่องคลอดและจัดระเบียบมดลูกให้เข้าอู่
-ของต้องห้ามเริ่มกินได้ นอนกับสามีได้

ส่วนประกอบของตัวยาที่สำคัญ

ภายหลังการคลอดลูกแล้ว เพื่อให้มดลูกหดตัว (เข้าอู่) เร็ว ในช่วงการอยู่ไฟ ๔๐ วัน จะต้องกินยา ซึ่งมีส่วนผสมในอัตราส่วน ๑ : ๑ ดังนี้
๑.เปลือกพิกุล
๒.พังกราบ
๓.รากมะเขือ (หึน)
๔.จันทร์หอมทั้งต้น
๕.เปลือกไม้นอล

ส่วนผสม

ใช้ตัวยาที่มีสัดส่วนเท่า ๆ กัน ผสมให้ได้ประมาณ ๑ หม้อ ใส่น้ำจนเต็ม

วิธีปรุง

นำตัวยาที่ผสมกันได้สัดส่วนแล้วไปต้มไฟจนเดือด

วิธีรับประทาน

รับประทานได้ตลอดเวลา เช้า เที่ยง เย็น ก่อนนอน

สรรพคุณ

ต้มกินเพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

อาหารแสลง/ต้องห้าม

ปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาดุก แกงหอย (ทำให้คางแข็ง) ปลาโสด
อาหารที่ให้รับประทานได้ในช่วงอยู่ไฟ
ปลาละมา (ปลาเค็มแห้ง) ปลาช่อนแห้ง เนื้อหมู ไก่
โรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดกับผู้ป่วยหลังคลอด
ผู้ป่วยหลังคลอดเป็น “เรียน” ลักษณะอาการเป็นบ้า ไข้ขึ้นสูง เพ้อ คลั่ง สาเหตุเพราะเลือดไหลเวียนขึ้นศีรษะ วิธีรักษา ต้องบีบ นวด คบก้อนเส้า และต้องนำอาหารแสลงที่ผู้ป่วยกินเข้าไปมาแก้

นิยามศัพท์เฉพาะ

ผลักก้อนเส้า: หมายถึง ระยะอยู่ไฟครบ ๗ วัน หลังคลอด
ฝังกุล: ระยะอยู่ไฟครบ ๗ วัน หลังคลอด, ระยะพ้นขีดอันตราย มดลูกเริ่มแห้ง, ระยะลดความเข้มงวดทั้งด้านอาหารและการดูแลรักษาโดยทั่วไป
อยู่ไฟ: ะยะแรกคลอดจนครบ ๗ วัน แม่ต้องนอนยกเข่าขึ้น เพื่อให้ช่องคลอด มดลูก อังไฟบนเตาถ่านที่ก่อด้วยไม้พลา หรือไม้นอลลอกเปลือกออกอย่างดี เพื่อให้มดลูกแห้งเร็ว

ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นางคล้อย สีนวล
ที่อยู่: บ้านต้นเหรียง บ้านเลขที่ .... หมู่ที่ ๙ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: ป.๔
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: -
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๑๑ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๓

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องตำรายาพื้นบ้าน

คำให้การเรื่องยาธาตุ


นายรุ่ง สุวรรณสนิท เป็นหมอแผนไทย ที่คนในชุมชนตำบลน้ำขาวและใกล้เคียงรู้จักกันเป็นอย่างดี ในนามแพทย์รุ่ง เมื่อ ๕๐ ปีแล้ว เวลาใครเจ็บไข้ไม่สบายก็มักไปหาแพทย์รุ่ง หลังจากที่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว ตำรายาส่วนมากก็สูญหายไป นางประจวบ แก้วศรีเพชร ซึ่งเป็นบุตรสาว ปัจจุบัน อายุ ๖๕ ปีได้ให้ข้อมูลว่า ยังจำตัวยาสำคัญขนานหนึ่งได้เพราะเป็นผู้ไปจัดหาส่วนประกอบของตัวยาตามคำสั่งของบิดาอยู่เสมอ คือ ยาธาตุ ที่มีสรรพคุณไว้กินแก้หัวลม หัวแล้ง

ส่วนประกอบของตัวยาที่สำคัญ

๑.แห้วหมู
๒.ชาพลู
๓.ดีปลีเชือก
๔.ลูกสมอ
๕.เข็ดหมูนเพลิง
๖.เข็ดหมูนกูด (เข็ดหมูนขม)
๗.พลิกดำ
๘.ลูกค้าน (ซื้อจากร้านยา)
๙.ก้านเดา
๑๐.ขมิ้นอ้อย

ส่วนผสม

ใช้ตัวยาที่มีสัดส่วนเท่า ๆ กัน ให้ได้ประมาณ ๑ หม้อต้ม ใส่น้ำจนเต็ม

วิธีปรุง

นำตัวยาที่ผสมกันได้สัดส่วนแล้วไปต้มไฟจนเดือด

วิธีรับประทาน

รับประทานได้ตลอดเวลา เช้า เที่ยง เย็น ก่อนนอน

อาหารแสลง/ต้องห้าม

ไม่มี

สรรพคุณ

ไว้กินแก้หัวลม หัวแล้ง

ราคาค่าตัวยา/การรักษา ๑ ครั้ง

......................................................

ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นางประจวบ แก้วศรีเพชร
ที่อยู่: บ้านเกาะแค บ้านเลขที่ .... หมู่ที่ ๑ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: ...............................
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: -
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๓

ยาบุรุษ

ข้อมูลองค์ความรู้เรื่องตำรายาพื้นบ้าน

ยาบุรุษ (ยาหนองใน)

คำให้การเรื่องยาบุรุษ

ในสมัยอดีต ประมาณปีพ.ศ. ๒๕๐๐ ชุมชนในตำบลน้ำขาวยังขาดการพัฒนาเกี่ยวกับสุขภาวะในทุก ๆ ด้าน สภาพการดำรงชีวิตเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ค่านิยม ความคิดของลูกผู้ชายที่ยังเป็นโสด หรือที่รักสนุกส่วนหนึ่งจึงมักนิยมเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่เริงรมณ์ ตามซ่องโสเภณี ที่ อ. นาทวี ซึ่งต้องใช้รถจักรยาน หรือถ้าไกลออกไปก็เป็น ที่ อ.หาดใหญ่ ต้องเดินทางโดยรถไฟที่สถานี อ.จะนะ ผลที่ได้รับ คือโรคที่เกิดจากความสำส่อนทางเพศ คือ โรคหนองใน จากคำบอกเล่าของนางจวบ แก้วศรีเพชร ภรรยาของนายเยื่องพบว่า ผู้ป่วยบางคนมีอาการสาหัส ถึงขั้นผมร่วงไปเลยก็มี ดังนั้น นายเยื่อง แก้วศรีเพชร ซึ่งถือเป็นคนเที่ยวในสมันนั้นอยู่ด้วย จึงเกิดความสนใจ ที่จะศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับตัวยาที่จะนำมารักษาโรคดังกล่าว จากทวดแดง.....อีกทีหนึ่ง

ส่วนประกอบของตัวยาที่สำคัญ

๑.หัวยาจีน
๒.สารส้ม
๓.หัวคู้ย่านหนัดเขียว
๔.ลูกสมอเทศ สมอไทย
๕.หัวคู้ย่านลิเภายุ่ง – ย่านลิเภาใหญ่
๖.รากไทรย้อย

ส่วนผสม

นำตัวยาในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน มาผสมกัน ให้ได้ ๑ หม้อดิน ใส่น้ำจนเต็มหม้อ

วิธีปรุง

นำตัวยาที่ผสมกันได้สัดส่วนแล้วไปต้มไฟจนเดือด ให้แห้งจากน้ำในหม้อดิน ๓ ส่วน จนเหลือ ๒ ส่วน

วิธีรับประทาน

รับประทานได้ตลอดเวลา

อาหารแสลง/ต้องห้าม

ไม่มี

สรรพคุณ

รักษาโรคหนองใน ตั้งแต่ระยะอาการเริ่มเป็น จนถึงระยะรุนแรงถึงขั้นผมร่วง แต่ต้องเพิ่มขนาดตัวยา แต่มักจะไม่เกิน ๒ หม้อยาต้ม รับรองว่าหายขาด

ราคาค่าตัวยา/การรักษา ๑ ครั้ง

หม้อละ ๑๐๐ บาท

ข้อมูลผู้ให้สัมภาษณ์

ชื่อ: นางประจวบ แก้วศรีเพชร
ที่อยู่: บ้านเกาะแค บ้านเลขที่ .... หมู่ที่ ๑ ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา
การศึกษา: ป.๔
อาชีพ: ทำสวนยาง
สถานภาพ: -
ชาติพันธุ์: ไทย
ภาษา: ไทย (ไทยท้องถิ่นใต้)
วันที่ให้สัมภาษณ์: วันที่ ๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๓